ReadyPlanet.com
dot
solutier project
dot
Member log in
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
ต้องการข้อมูลข่าวสารจาก website

dot
สมาชิกที่ log in ขณะนี้
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 1 คน
dot
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่ขณะนี้ คน




เคล็ดลับการสร้างงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 3 " การประชาสัมพันธ์ "

เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ  ภาค 3 (การประชาสัมพันธ์)

 3. การประชาสัมพันธ์

ต่อจากตอนที่ 2 ที่ได้เล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับสินค้าและการตั้งราคาสินค้างานฝีมือไปแล้วนั้น  คราวนี้อยากนำเพื่อน ๆ ไปลองมองดูเทคนิคการโฆษณาประชาสัมพันธ์  สินค้า Hand Made ที่ได้ผลตรงตามที่ผู้ผลิตงานฝีมืออย่างเรา ๆ ท่าน ๆ สามารถทำได้จริงกันดูนะคะ  

 

เพราะผู้ผลิตงานฝีมือ  ( ระดับชาวบ้าน )  คงไม่สามารถทุ่มเทงบประมาณในการซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้มากมาย   เหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เขาทำ ๆ กันอยู่  จริงไหมคะ  ? 

                สำหรับธุรกิจเรือจำลองไม้สักทอง ระบบมาตราส่วนของคุณพ่อนั้น  เริ่มต้นจากการนั่งทำเรือจำลองให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงสุด  เท่าที่จะทำได้ในอดีต  การโปรโมทของคุณพ่อก็เป็นเพียงการให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด  แล้วหวังว่า ลูกค้าจะเล่าต่อกันแบบปากต่อปากไปเองเท่านั้น  ( ซึ่งนี่แหละค่ะ  คือการโปรโมทที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช้ในช่วงที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ ! ) 

 

                กว่าที่เรือจำลองไม้สักทองของคุณพ่อ  จะโด่งดังจนกลายเป็นผู้ผลิตและ Gallery ส่งออก เรือจำลองและเรือสำเภาจำลอง  อันดับหนึ่งของเมืองไทยนั้น  ต้องผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงมาอย่างมากมาย  ซึ่งก็อยากนำเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ ได้ทดลองนำไปใช้กันดูนะคะ

 

1.       การประชาสัมพันธ์แบบต้องใช้ทุนบ้างเล็กน้อย 

หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกนะคะ  กับการต้องใช้จ่ายเพื่อให้งานฝีมือของเราได้รับการจดจำ หรือความสนใจจากผู้ที่รับ และชอบในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแรกเลยที่คุณควรมีก็คือ  เอกสารประชาสัมพันธ์ เช่น  ใบปลิว , โบรชัวร์  ที่ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจสามารถนำติดตัวกลับไปได้

 

แต่ก็อย่าพึ่งคาดหวังว่า  ลูกค้าที่หยิบเอกสารของคุณไปนั้นจะตัดสินใจซื้อสินค้างานฝีมือของคุณในทันที   เพียงเพราะได้เห็นเอกสารของคุณ  แต่อยากให้คุณคาดหวังว่าผู้ที่หยิบเอกสารไปนั้นนำเอกสารของคุณกลับไปบ้าน  ไปที่ทำงาน  หรือเอาไปฝากเพื่อน  ไม่ใช่แค่หยิบไปอ่าน ๆ แล้วก็ทิ้งลงถังขยะไป   ( ซึ่งเกิดขึ้นแน่ ๆ อยู่แล้วล่ะค่ะ ! )

 

คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนทำเอกสารราคาแพง ๆ หรือใบปลิวจำนวนมากมายมหาศาลตามที่โรงพิมพ์บอก  แต่หากต้องการเริ่มต้นจริง ๆ แม้กระทั่งใบปลิวที่ถ่ายเอกสารมาก็สามารถใช้งานได้แล้วค่ะ  แต่อย่างน้อยขอให้การออกแบบรูปร่าง  หน้าตา  และข้อความในใบปลิวของคุณ “ สะดุดตา – สะดุดใจ ”  ผู้คนที่ได้รับโบว์ชัวร์ใบนั้นไป  ซึ่งมีความหมายมากกว่าความพยายามอัดแน่นข้อมูลต่าง ๆ สารพัด  ของงานฝีมือที่คุณสร้างขึ้นมา  จนรู้สึกว่าเราพยายามยัดเยียดข้อมูลให้กับผู้บริโภคจนเกินงาม 

เชื่อเถอะค่ะว่า  เขาไม่อ่านทุกตัวอักษรหรอก  เป็นคุณ..คุณก็ไม่อ่าน  หรือไม่จริง ! 

 

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะ  อย่างที่บอกไปแล้วในกระทู้แนะนำตัวว่า  ปัจจุบัน  ดิฉันเป็นผู้ควบคุมดูแล และพัฒนาทีมงานการตลาด ให้กับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง   และปัญหาที่พบบ่อยมาก ๆ ของการสร้างโบรชัวร์หรือใบปลิว  ก็คือการพยายามยัดเยียดข้อมูลทางวิชาการ  จำนวนมหาศาลลงไปในใบปลิวแผ่นเล็ก ๆ แทนที่จะมองความน่าสนใจของผู้ที่ได้รับใบปลิวไป  จนประชาชนที่หยิบใบปลิวของ รพ. เหล่านั้น หยิบไปอ่านแล้ว งง เป็นไก่ตาแตก  ไม่เชื่อ คุณลองหยิบใบปลิว รพ. มาอ่านดูซิคะ !  รับรองได้ว่าคุณจะต้องรู้สึกเหมือนกำลังอ่านตำราทางการแพทย์อยู่เลยทีเดียว

 

กลับมาเรื่องงานฝีมือกันต่อ  สิ่งที่คุณควรบรรจุลงไปในใบปลิว  ขอแนะนำให้ใช้รูปภาพสวย ๆ ชัด ๆ ไม่เกิน 4 - 5 รูป  กับข้อความที่นำเสนอข้อมูลสินค้าสัก 5 – 6 บรรทัดก็เพียงพอแล้ว  เคยได้ยินประโยคนี้ไหมครับ “ รูปภาพเพียงรูปเดียว  บอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าหนังสือร้อยหน้า พันหน้า ด้วยซ้ำ ”

 

ในการถ่ายภาพเพื่อพิมพ์โบว์ชัวร์  คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพสินค้าทุกด้าน  เพราะอยากนำเสนอความสวยงามของงานฝีมือไปเสียทั้งหมด  ถึงอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจหรือลูกค้าก็ย่อมอยากได้เห็นของจริง ก่อนตัดสินใจซื้ออยู่ดี 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ  คือประโยคสั้นที่สามารถสื่อถึงเอกลักษณ์ของสินค้าคุณได้  ซึ่งในปัจจุบันคุณไม่จำเป็นต้องเคยทำงาน Copy Writer  ตัวฉกาจ  คุณก็สามารถหาประโยคสวย ๆ จาก Internet ที่คุณอ่านแล้วสัมผัสได้ว่า  ประโยคนี้แหละสามารถสื่อถึงสินค้าของคุณได้ และนำมาใช้งานได้ตั้งเยอะแยะ 

 

แต่โดยมารยาทที่ดีแล้ว  คุณก็ไม่ควรคัดลอกของคนอื่นมาทั้งดุ้น  แต่ควรใช้วิธีคัดลอกและดัดแปลง  ให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณเอง  ซึ่งผู้ที่ได้อ่านจะไม่เกิดความรู้สึกว่า  คิดเองไม่เป็นหรือไง !  เสียภาพลักษณ์ของสินค้าไปเปล่า ๆ ถ้าคุณออกแบบโบว์ชัวร์ด้วยคอมพิวเตอร์ไม่เป็น  คุณลองหาข้อมูลใน Google  ก็ได้  เดี๋ยวนี้นักออกแบบกราฟฟิกมีเยอะแยะ ราคาต่อหน้าไม่ถึงพันบาทก็มี  ไม่จำเป็นต้องใช้นักออกแบบมืออาชีพ  อาจเป็นน้อง ๆ นักศึกษาก็สามารถออกแบบโบว์ชัวร์ให้สวยงามได้แล้วล่ะค่ะ

 

2.       จุดแจกโบว์ชัวร์ 

ถ้าคุณคิดว่าต้องเสียเงินทอง กับการจ้างเด็กเพื่อวิ่งไล่แจกโบว์ชัวร์ หรือเสียค่าเช่าที่แพง ๆ เพื่อเอาโบว์ชัวร์ไปตั้ง  คุณกำลังคิดผิดแล้วค่ะ  ลองมองสิ่งใกล้ตัวที่จะช่วยคุณแจกโบว์ชัวร์คุณได้ซิคะ  เอาง่าย ๆ ที่สุดเลย  ลูกค้าทุกคนที่สั่งซื้อสินค้าจากคุณ  คุณก็แถมโบว์ชัวร์ให้เขาซัก 4 – 5  ใบ  มีโอกาสสูงมากทีเดียวค่ะ  ที่เขาจะนำโบว์ชัวร์ของคุณแจกจ่ายไปยัง ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูงอีกจำนวนมากมาย

 

ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่านะคะ  อย่าเสียเงินสั่งพิมพ์โบว์ชัวร์แพง ๆ แล้วไล่แจกให้กลายเป็นขยะอยู่ในถังขยะเลยค่ะ

 

3.       เปิดตัวสู่สังคมบ้าง 

หัวข้อนี้คุณอาจโต้แย้งในใจว่า  จะไปเข้าสังคมที่ไหน ?  จะไปเข้าสังคมด้วยวิธีการอย่างไร ?  ฉันไม่ค่อยมีเพื่อนมากมายนัก ฯลฯ  ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอกค่ะ  สังคม Internet  นี่แหละ  เพียงคุณเข้าไปในเว็ปไซต์ , เว็ปบอร์ด  หรือ Blog ที่มีผู้คนที่สนใจงานประเภทเดียวกันกับคุณ  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  สร้างความสัมพันธ์  หรือพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ  โดยไม่หวังผลทางการค้า  ก็จะช่วยสร้างความจดจำให้กับผู้คนอีกมากมาย  คุณก็จะเป็นที่รู้จักไปพร้อม ๆ กับงานฝีมือที่คุณบรรจงสร้างมันขึ้นมา

 

ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัด  ..........  วันนี้คุณก็จำได้แล้วว่า  “  อ.ชุติมา ”   คนนี้เป็นเจ้าของ    The Ships Gallery    ศูนย์รวมเรือจำลองไม้สักทอง ระบบมาตราส่วน ที่ฝีมือเยี่ยมที่สุดในเมืองไทย...  เห็นไหมคะ !

 

4.       กัดฟันใช้เงินก้อนบ้างก็ดี 

ดิฉันหมายถึง  การออกงาน Event  น่ะค่ะ   คุณอาจเลือกมองหางานแสดงสินค้าที่ใกล้เคียงและเหมาะสม  กับงานฝีมือของคุณมากที่สุด  เพื่อเป็นการนำเสนอและโชว์ผลงานของคุณ  ให้กับประชาชนจำนวนมาก  ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่คุณต้องการนำเสนอ  รวมถึงการมีโอกาสได้แจกใบปลิวบ้าง

 

การออกงาน Event ในสมัยนี้  อย่าไปคาดหวังเลยค่ะว่า  จะสามารถขายสินค้าได้อย่างถล่มทลาย  แค่ได้ค่าเช่าที่  ก็ถือว่าบุญแล้ว  สิ่งที่คุณได้รับจากการออกงาน Event  น่าจะเป็นโอกาสที่ได้นำเสนอตัวเอง  แก่กลุ่มลูกค้าและสื่อมวลชนมากกว่าการเปิดร้านจำหน่ายสินค้า  คุณอาจไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเงินทองที่มากมายอยู่คนเดียวก็ได้  ถ้าคุณได้มีเพื่อนฝูงที่ผลิตสินค้างานฝีมือคล้าย ๆ กัน  ( แต่ คนละชนิด ) ลองชวน ๆ กันไปแชร์ค่าพื้นที่  สัก 3 คนต่อ Booth  ก็ได้  จะได้ไม่หนักคุณจนเกินไป

 

5. หัวข้อ Event  ที่ผ่านมามีคำว่า “ สื่อมวลชน ”  เข้ามาแทรกด้วย 

คุณอาจไม่เคยคาดหวังว่า TV. , หนังสือพิมพ์ , นิตยสาร  จะมาทำข่าวหรือสัมภาษณ์ผู้ผลิตงานฝีมือเล็ก ๆ แบบเรา ๆ แต่ถ้าคุณเริ่มเปิดตัวในสังคม  คุณต้องไม่ลืมว่าสื่อมวลชนต่าง ๆ เหล่านั้น  เขาก็ต้องพยายามหาข่าวที่น่าสนใจ  เพื่อไปนำเสนอเช่นเดียวกัน  จริงไหมคะ !

 

และถ้าสินค้าของคุณมีมุมมองที่น่าสนใจ  รับรองได้เลยว่าสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ก็อยากจะนำเสนอผลงานของคุณเช่นเดียวกัน 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผลงานเรือจำลองไม้สักทองระบบมาตราส่วนของคุณพ่อ  อยู่ดี ๆ ก็มีหนังสือพิมพ์ข่าวสด , กรุงเทพธุรกิจ , นิตยสาร Aqua Biz ,  ททบ. 5 , เคเบิ้ลทีวี True Vision  ติดต่อขอเข้าทำการสัมภาษณ์ , ทำข่าว หรือลงบทความ  ก็เกิดจากการนำเสนอตัวเองจากสื่อต่าง ๆ ทั้งนั้นค่ะ

 

6. สื่อ Online 

เป็นที่ยอมรับกันแล้วค่ะว่าปัจจุบัน โลก Internet   ก็เป็นสื่อที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารได้รับการเผยแพร่เป็นอย่างดี   การมีเว็ปไซต์เป็นของตัวเองนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ  ที่ทำให้คุณสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสาร  และผลงานของคุณได้อย่างดีเยี่ยม  ซึ่งการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองในปัจจุบัน  เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในอดีตหลายเท่า  คุณไม่จำเป็นจ้าง Programmer มานั่งเขียนเว็บไซต์ให้ดูเป็นมืออาชีพ    คุณอาจเลือกใช้เว็บไซต์สำเร็จรูป  ที่มีไว้คอยบริการอยู่มากมาย  หรือไม่กระทั่งพื้นที่เว็บไซต์ฟรีที่เปิดพื้นที่ให้คุณเข้าทำเว็บไซต์ได้อย่างอิสระ  หรืออย่างน้อยก็ใช้ Blog สำเร็จรูปที่มีมากมาย  ยกตัวอย่างเช่น  Pantown ของ พันทิป  นี่ก็ได้

 

เมื่อคุณมีเว็บไซต์แล้ว  คุณอาจคาดหวังว่าอยากให้ search google แล้วอยู่ที่หน้า 1 ซึ่งเป็นความคาดหวังที่มีโอกาสเป็นไปได้ยากเหลือเกิน  เพราะทุกคนก็คิดเหมือนกันหมด  แล้วคุณก็มามีคำถามกับตัวเองว่า  ทำไมเว็บของคุณไม่ติดอันดับเสียที  แล้วก็หมดกำลังใจทำ

 

ไม่จำเป็นหรอกค่ะ !  ถ้ามันติดหน้า 1 ได้ก็ดี  แต่อย่าลืมว่าคนอื่น ๆ ที่เขาทำเว็บไซต์มาก่อนคุณเขาย่อมมีสิทธิ์ติดหน้า 1 มาก่อนคุณเป็นธรรมดา  แรก ๆ ของการทำเว็บไซต์คุณอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย  ที่จะเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ  แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเนื้อหาในเว็บไซต์มากกว่า  คุณควรมีการ Update ข้อมูลเป็นประจำ  เพื่อให้คนที่เคยเข้ามาแล้ว กลับเข้ามาอีก  ไม่ใช่เข้ามากี่ที  ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  สุดท้ายก็เลยไม่เข้ามาในเว็บไซต์ของคุณอีกเลย

 

เว็บไซต์ที่ดี  อาจดีกว่าการไปเช่าหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าแพง ๆ ด้วยซ้ำ  หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ว่า  คุณทำงานสม่ำเสมอกับเว็บไซต์ต่างหาก  เดี๋ยวผู้เยี่ยมชมก็เข้ามาเอง

ไม่เชื่อลองเสริชคำว่า “ เรือจำลอง ”  ดูซิคะ !  รับรองว่าคุณเจอเว็ปไซต์ของดิฉันแน่ ๆ บางครั้งอาจไม่ติดหน้า 1 เสมอไป  แต่เราก็ยังทำหน้าที่ Update ข้อมูลอยู่เรื่อย ๆ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็ปไซต์ของเราเป็นกว่าหมื่นคนแล้วล่ะค่ะ  เห็นไหมคะว่า  ทุกอย่างเป็นไปได้จริง ๆ ค่ะ  เพียงแต่อาจต้องอาศัยเวลาซักนิดนะคะ 

 

 

  7. นำสื่อทุกอย่างที่คุณมี  เชื่อมโยงเข้าหากันให้หมด

ตัวอย่างเช่น  ในโบรชัวร์ก็มีเว็ปไซต์  , ในเว็ปไซต์ก็โปรโมท Event  ,  ใน Event ก็มีหนังสือ , ในหนังสือก็มีโบรชัวร์  เชื่อมโยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  นี่คือการทำตลาดสองชั้น  โดยไม่ปล่อยให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดหายไป  คนที่สนใจงานฝีมือของคุณก็จะมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

 

อย่ามองข้าม  สถาบันที่อ้างอิงชื่อเสียงได้  เช่น  OTOP , สมาคมต่าง ๆ   ส่งผลงานประกวดและการเก็บสถิติ  ผู้ที่สนใจผลงานของคุณ  รวมถึงลูกค้าที่ได้ซื้อผลงานของคุณไปแล้ว  เพื่อใช้ในการสร้างความเชื่อมั่น  ให้แก่ลูกค้ารายใหม่ ๆ

 

ตัวอย่าง เช่น  ในยุคแรก ๆ ที่คุณพ่อทำเรือจำลองเราก็นำไปส่งคัดสรรจนได้รับการยอมรับเป็น OTOP  4 ดาวระดับประเทศในปีแรกที่ส่ง  ซึ่งทาง OTOP เองก็ได้ช่วยนำเสนอผลงานของคุณพ่อทางเว็ปไซต์ ThaiTumbon  จนมีสื่อชนิดอื่น ๆ ให้ความสนใจเข้ามาทำข่าวอย่างมากมาย  ซึ่งเป็นที่มาของ  “ นักต่อเรือจำลองระดับประเทศ  ที่นักสะสมเรือจำลองระดับประเทศรู้จักกันดี  ด้วยฉายา  “ หัตถ์เทวะ ”   ในปัจจุบัน ”

 

เห็นไหมคะว่า   จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้คุณ  จนคุณเองก็คาดไม่ถึงได้  และที่สำคัญ  คุณไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเงินทองหลายแสน หลายล้าน  เพื่อการ PR. สินค้าของคุณก็ได้  เพียงแต่คุณควรเข้าใจเลือกใช้การ PR. ที่เหมาะสมกับงานฝีมือของคุณและงบประมาณในกระเป๋าก็สามารถประชาสัมพันธ์ได้ดีเช่นกัน  ในมุมตรงกันข้ามคุณอาจเคยได้ยินถึงสินค้าบางประเภทที่โฆษณาเท่าไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ  นั่นอาจเป็นเพราะโฆษณาในมุมมองที่แคบเกินไปก็เป็นได้  เชื่อเถอะค่ะว่าการโฆษณาที่ดีที่สุด  ไม่ใช่ความพยายามที่จะหว่านแหเพื่อการขายสินค้าให้ได้  แต่กลับกลายเป็นว่าการโฆษณาที่ได้ผลที่สุด  คือการบอกต่อของผู้ใช้และลูกค้า 

 

ยกตัวอย่างเช่น  เวลาเราดูรีวิวโรงแรม  ร้านอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยวในพันทิป  ที่ผู้โพสกระทู้อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจการนั้นเลยเรายังรู้สึกอยากไปทดลองใช้บริการ  แต่พอเราไปดูเว็ปขายของหลาย ๆ เว็ป  หรือแม้กระทั่ง Email ขยะ  ที่ส่งโฆษณาชวนเชื่อเข้ามาจำนวนมาก  เรากลับไม่อยากสนใจที่จะเปิดอ่านซะดื้อ ๆ แถมรู้สึกรำคาญอีกต่างหาก   คาถาสำคัญสำหรับการ PR. ที่ควรท่องให้ขึ้นใจก็คือ  “ เราต้องเป็นผู้ให้  ไม่ใช่ผู้ขอ ”  ลองนำไปใช้กันดูนะคะ !

 

หัวข้อ PR. นี่ค่อนข้างยาวซักหน่อยค่ะ   เอาเป็นว่าวันนี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนล่ะกัน   ชักเริ่มเมื่อยนิ้วแล้วล่ะ  พิมพ์ไม่ไหวแล้ว  คร่าวหน้าจะมาโพสในหัวข้อของ  “ ภาพลักษณ์ ”  ที่ดีของงานฝีมือนะคะ  และหากสนใจก็ติดตามต่อกันได้นะคะ  หรือมีคำถามที่ยังไม่เข้าใจ  ก็ฝากคำถามไว้ก็ได้อีกค่ะ   ยินดีและเต็มใจตอบทุกคำถามค่ะ





(SME)การตลาดงานฝีมือ และหัตถศิลป์

การตลาดสินค้างานฝีมือ และหัตถศิลป์ อ.ชุติมา ปิยะจิตติวงศ์
เคล็ดลับการสร้างงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 6 Promotion
เคล็ดลับการสร้างงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 5 " รู้จัก ลูกค้า"
เคล็ดลับการสร้างงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 4 " ภาพลักษณ์ "
เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 2 " ราคา "
เคล้ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 1" สินค้า "



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
ชุมชนออนไลน์ เพื่อการพัฒนา SME ไทย www.exitcorner.com Powered by : Idea Line Co.,Ltd. google-site-verification: google881908aeaeb0f06e.html