ต้นทุนที่ถูกลืม
เมื่อสมัยเป็นเด็กเคยได้มีโอกาสติดตามคุณแม่ไปตลาดสดบ้างเป็นครั้งคราว ส่วนมากก็จะไปซื้อของสด เช่น เนื้อหมู ผัก ผลไม้ เมื่อไปถึงตลาด หน้าที่หลักก็คือ ช่วยหิ้วของ ส่วนการเลือกของและต่อรองราคาเป็นหน้าที่ของคุณแม่ โดยปกติคุณแม่จะมีเจ้าประจำอยู่แล้ว พอไปถึงตลาดเราก็จะเดินตรงไปหาเจ้าประจำกันทันที
ถึงแม้จะเป็นแม่ค้าเจ้าประจำ ก็ยังอุตส่าห์มีการต่อรองราคากันตามประสา พอหอมปากหอมคอ บางทีคุณป้าแม่ค้าทั้งหลายแกก็ลดให้ บางทีแกก็ไม่ลดแถมด้วยเสียงโวยมาอีกชุดใหญ่ ว่า โอ๊ย ราคานี้ก็แทบจะไม่ได้อะไรอยู่แล้วจ้ะแม่คุณ.. พร้อมบ่นถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม กันต่ออีกยืดยาว ดิฉันซึ่งยืนหิ้วถุงผัก ได้แต่ยืนฟังการเจรจา แล้วแอบยิ้มอยู่เงียบๆ พร้อมกับต้องคอยระวังรถเข็นผักไม่ให้มาทับเท้า
มานึกๆ ว่าไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนั้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่ Discount store หรือ Supermarket เข้ามามีบทบาทในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ขับรถไปตามถนนนี่เห็นบ่อยกว่าที่ทำการไปรษณีย์ สถานีตำรวจเสียอีก การเลือกซื้อของสดในซูเปอร์มาร์เกต ก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ป้ายติดไว้เท่าไหร่ก็ซื้อเท่านั้น คงจะไปเจรจาต่อรองราคากับแคชเชียร์มิได้ : )
ในอดีตนั้นถึงคุณแม่จะมีแม่ค้าเจ้าประจำอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็อดปันใจไปให้แม่ค้าหน้าใหม่ที่ปักป้ายราคาไว้ถูกกว่าหลายบาทไม่ได้ และบางครั้งอีกเช่นกัน ที่เมื่อกลับมาบ้าน มักจะได้ยินเสียงบ่นทำนองว่า ส้มเจ้าใหม่ที่ซื้อมาเที่ยวนี้ไม่ดีเลย ฟ่ามจนต้องทิ้งไปเสียหลายลูก รู้อย่างนี้ซื้อเจ้าเดิมดีกว่า แพงกว่าหน่อยก็ยังดี
(เผื่อบางคนไม่เคยได้ยินคำว่า ฟ่าม คำนี้ แปลว่า ฟู, ไม่แน่นเพราะแก่เกินกำหนด, (มักใช้กับผลไม้) เช่น ส้มเนื้อฟ่าม)

จนในเวลาต่อมาได้เข้ามาในวงการของการควบคุมต้นทุนการผลิต จึงได้รู้ว่า จริง ๆส้มเจ้าประจำของคุณแม่นั้นไม่ได้ แพง กว่าเลย ถึงแม้จะขายในราคากิโลละ 30 บาท ในขณะแม่ค้าเจ้าใหม่ขายในราคากิโลละ 22 บาท
ก็เพราะว่า ส้มของแม่ค้าเจ้าประจำนั้นไม่มีต้องทิ้งสักลูก ขณะที่ของเจ้าใหม่กินไม่อร่อย ทิ้งไปเสียหลายลูก ส่วนที่โยนทิ้งถังขยะนี่แหละ ที่เรียกกันว่าของเสีย (ในภาษาอังกฤษ อาจจะใช้ Loss, spoilage หรือ wastage) เจ้าส่วนที่กินได้นั้น เราเรียกกันว่า Yield ซึ่งมีผู้แปลความไว้สั้นๆว่า คือ ผลผลิตสุทธิที่ได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งหักการสูญเสีย (Loss) ออก โดยคำนวณอยู่ในรูปของร้อยละของผลผลิตที่ได้เมื่อเทียบกับ input ของกระบวนการ
สูตรการคำนวณคือ ผลที่ได้(Output) / ค่าเริ่มต้น (Input) * 100 = % Yield
(โดย input และ output ต้องเป็นหน่วยเดียวกัน เช่น กรัม, กิโลกรัม , ขีด หรือเป็นได้ทั้ง กระป๋อง , กล่อง แต่กรณีที่เป็นบรรจุภัณฑ์ ต้องมีน้ำหนักหรือปริมาตรของวัตถุดิบที่เท่ากัน เช่นกัน)
ดังนั้น % Yield ของแม่ค้าเจ้าประจำ = 100% ซึ่งราคาที่แท้จริงก็คือ 30 บาท ตามที่เห็นตามป้าย
ในขณะที่ส้มของแม่ค้าเจ้าใหม่ กินได้จริงๆ แค่ 6 ขีด ที่เหลือทิ้งถังขยะ เท่ากับว่า yield = 60%
หมายความว่าราคาที่แท้จริงต่อกิโล = 22 บาท = 36.67 บาท ซึ่งแพงกว่าเจ้าประจำเกือบ 7 บาท
60%
ดังนั้นในการคำนวณต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกต้อง เราจะไม่ใช้ราคาที่ซื้อมา มาคิดเป็นต้นทุนทันที แต่จะใช้ราคาหลังจากคิด yield แล้ว (Yield cost) มาคำนวณ เพื่อให้ได้ต้นทุนวัตถุดิบที่แท้จริง สำหรับนำไปใช้ในการตั้งราคาขายต่อไป
ประโยชน์ของ Yield cost อีกอย่างหนึ่งก็คือ นำไปใช้เปรียบเทียบราคา ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก supplier เจ้าไหน หรือก่อนที่จะปันใจไปให้เจ้าใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เราจะมีการขอตัวอย่างสินค้าเพื่อนำมาทดสอบ yield และ loss กันเสียก่อน เนื้อสัตว์ราคาแพงบางประเภทต้องทดสอบ yield กันหลายกิโล เนื่องจากวัตถุดิบพวกนี้มีโอกาสเกิดความสูญเสียสูง เมื่อได้ yield cost แล้ว จึงจะทำการตัดสินใจเลือก supplier ได้ ดังนั้นอย่างพึ่งด่วนปันใจไปให้ supplier ที่ให้ราคาถูก ถ้าหากยังไม่ได้ทราบราคาที่แท้จริง