ReadyPlanet.com


องค์กรแบบไหนที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุด
avatar
prakal


องค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กลาง หรือ SME ต่างก็ต้องอาศัยพนักงานในการทำงานให้ไปสู่เป้าหมาย

ผู้บริหารเองเคยคิดมั้ยครับว่า จะทำอย่างไรให้องค์กรของเราเป็นสถานที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่มีชื่อว่า “The Great Workplace” เขียนโดย Michael Burchell และ Jennifer Robin ซึ่งได้ทำวิจัยและเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงในการสร้างองค์กรของเราให้เป็นที่ที่พนักงานอยากอยู่ทำงานด้วยมากที่สุด

ประเด็นที่ผมอยากจะนำเอามาคุยกันก็คือ ประเด็นที่เขาถามคำถามกับพนักงานที่ทำงานในองค์กรว่า “องค์กรของคุณที่คุณทำงานอยู่นั้น เป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยหรือเปล่า??” และ “ทำไมถึงเป็น” หรือ “ทำไมถึงไม่เป็น”

ถ้าท่านเป็นผู้บริหารขององค์กร ท่านเองเคยถามตัวเองด้วยคำถามนี้หรือเปล่าครับ และได้คำตอบว่าอะไร หรือเคยถามพนักงานบ้างหรือไม่ และพนักงานตอบท่านว่าอะไรครับ แล้วลองมาเทียบกับคำตอบของพนักงานที่ตอบคำถามนี้กว่าหมื่นคน ไม่ว่าจะตอบว่าน่าทำ หรือไม่น่าทำงานด้วยก็ตาม

สาเหตุหลักๆ จะมีอยู่ 3 ตัวก็คือ

Trust คือความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าเรามีความเชื่อมั่น และไว้วางใจผู้บริหารของเรา นายของเรา และเพื่อนร่วมงานของเรา เราก็จะรู้สึกว่าองค์กรนี้น่าทำงานด้วยมากที่สุด ส่วนคนที่ตอบว่า องค์กรของเขาไม่ค่อยจะน่าทำงานด้วยเลย ก็มีสาเหตุมาจาก การขาดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยากาศมันก็ไม่น่าทำงาน ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำกันไป

Pride คือความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ถ้าเรารู้สึกภูมิใจ รู้สึกมีส่วนสำคัญในการทำงานให้กับองค์กร และรู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ เราก็จะรู้สึกเกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน และจะทำให้เราอยากที่จะทำงานกับองค์กรนั้น หรือมองในอีกแง่หนึ่งได้ว่า องค์กรที่พนักงานรู้สึกว่าน่าทำงานด้วยนั้น ก็คือองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่าง ผู้บริหารและพนักงาน หัวหน้างาน และลูกน้อง ซึ่งเมื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็จะส่งต่อความภาคภูมิใจในความสำเร็จของงานต่อไปสู่พนักงานในแต่ละระดับ และทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่า เขาเองเป็นคนสำคัญต่อองค์กร และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ ซึ่งนี่ก็คือ การให้ความสำคัญแก่พนักงานตามหลักของการสร้างแรงจูงใจนั่นเองครับ

Camaraderie คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกันเองภายในองค์กร การทำงานด้วยความสนุกสนาน ไม่มีการแทงข้างหลังกัน ความสัมพันธ์นี้ รวมไปถึงหัวหน้ากับลูกน้อง และผู้บริหารกับพนักงานด้วยนะครับ ซึ่งนี่ก็คือ บรรยากาศในการทำงานฉันท์มิตรนั่นเองครับ การที่พนักงานบางคนตอบว่าองค์กรที่เขาทำงานอยู่ด้วยนั้นเป็นที่ที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย ก็เพราะว่า ในองค์กรมีแต่การแก่งแย่งชิงดีกัน มีการเมืองภายในมากมาย และไม่มีความเป็นมิตรกันเลย มีแต่การหวังประโยชน์ซึ่งกันและกัน และขาดความจริงใจต่อกัน ก็เลยทำให้เขามองว่านี่คือองค์กรที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย

3 ปัจจัยนี้ ถ้าจะให้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันในองค์กรของเรา สิ่งแรกที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนเลยก็คือ Trust ครับ เพราะถ้าพนักงานรู้สึกไม่ Trust กันแล้ว เรื่องของความภาคภูมิใจก็ไม่เกิด เรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เช่นกัน เรื่องของ Trust นั้นเป็นสิ่งที่สร้างไม่ยาก แต่เมื่อไรที่สร้างได้แล้ว แล้วเราเผลอทำลายมันไป ในการที่จะสร้างใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมากกว่าการสร้างครั้งแรกมากมายหลายเท่าทีเดียวครับ

คำถามต่อมาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้พนักงานกำลังรู้สึก Trust กับบริษัทหรือเปล่า ผมว่าอันนี้ดูไม่ยากนะครับ บรรยากาศในการทำงานมันฟ้องเราได้ชัดเจนมากเลยครับ พนักงานที่ไม่รู้สึก Trust ต่อองค์กร แม้ว่าจะทำงานได้ตามเป้าที่กำหนดก็ตาม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ไม่ค่อยสนใจอะไร ไม่พูดไม่จาอะไร ถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ ไม่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนางาน ทำไปเรื่อยๆ เหมือนเดิม สักพักก็ลาออก และองค์กรต้องหาพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา

ในทางตรงกันข้ามถ้าบริษัทนั้นๆ พนักงานรู้สึก Trust ต่อองค์กรที่เขาทำงานด้วยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผลงานที่ออกมาจะดี และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่อยู่กับที่ บรรยากาศในการทำงานจะเป็นไปด้วยความสนุกสนาน แม้จะมีปัญหากัน แต่ก็จะหาทางออกด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มากกว่าการโทษกันไปโทษกันมา สิ่งที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ได้จริงๆ ในการทำงานก็คือ ผู้บริหารระดับสูงสุดจะต้องสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นกับพนักงานในทุกระดับก่อนเลย

ปัจจัยนี้เป็นสิ่งแรกเลยครับ สำหรับองค์กรที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุดบอกมา ซึ่งเป็นอย่างไรนั้น ผมจะเขียนให้อ่านกันในตอนต่อไปครับ



ผู้ตั้งกระทู้ prakal (pkppan-at-gmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2011-05-04 18:16:17 IP : 183.89.147.50


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2011 All Rights Reserved.