ReadyPlanet.com


หลากหลายวิธีประหยัดงบด้านไอทีให้กับ SME ทั้งหลาย
avatar
เอกสิทธิ์


จากบทความที่แล้วที่ได้กล่าวถึง Cloud Computing ไป หลายคนอาจจะมองออกบ้างแล้วว่าจะประหยัดงบประมาณด้านไอทีให้กับ SME ได้อย่างไร แต่หลังจากเขียนบทความนั้นเสร็จ ผมก็คิดว่า ถ้ามีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นก็น่าจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น และน่าจะพูดถึงเทคโนโลยีตัวอื่นๆ ที่จะมาช่วยพวกเราประหยัดด้านค่าใช้จ่ายด้านไอทีไปด้วยเลย

อย่างไรก็ตาม การหาตัวอย่างที่เป็นของ "SME ไทย" นั้นออกจะลำบากพอสมควร ผมเลยต้องขออนุญาตนำตัวอย่างบางอันจากบทความออนไลน์ของ Computer Weekly ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2554 มาให้ชมกัน ถ้าใครอยากอ่านบทความภาษาอังกฤษฉบับเต็ม ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.rbiassets.com/GetFile.ashx/34614038298 นะครับ

เริ่มกันเลยนะครับ

1. Cloud Computing คือเทคโนโลยีตัวแรกที่จะพูดถึง และคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรมากมาย


เริ่มต้นที่บริษัท MedicAnimal ที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ออนไลน์ ได้ย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปไว้บน Cloud ของ Rackspace หลังจากนั้น บริษัทไม่ต้องมาเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการคอยตามอัพเกรดพวกฮาร์ดแวร์ต่างๆ นอกจากนี้บริษัทยังไม่ต้องเสียเงินมากเป็นค่าซื้อฮาร์ดแวร์ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด เพียงเสียค่าเช่าเดือนละ 1500 เหรียญและไม่ต้องมาดูแลเรื่องฮาร์ดแวร์อีกเลย

จากตรงนี้ คงเห็นกันแล้วนะครับว่าถ้าเป็นธุรกิจแบบ SME ที่มีจำนวนพนักงานไม่เยอะแยะนัก การซื้อฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์เข้ามาในบริษัทจะทำให้เราต้องจ้างพนักงานไอทีเข้ามาดูแลด้านนี้เพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่เหมาะนักกับบริษัทระดับ SME บางแห่งหรือกับบริษัทที่พึ่งเปิดใหม่ การซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เข้ามาแล้วไม่มีเวลาดูแล และใช้งานได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ มันคล้ายกับการที่ผู้หญิงซื้อสินค้าลดราคามาแล้วไม่เคยใช้เลย ซึ่งคงไม่เหมาะนักกับบริษัทที่น่าจะอยากใช้ประโยชน์จากการลงทุนให้เต็มที่

2.Unified Communication เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่บริษัท TCS ซึ่งได้แสดงการทำงานของเจ้า UC ตัวนี้ให้ผมและนักศึกษาหลายๆ คนดู และพวกเราก็ประทับใจในการทำงานของมันพอตัวเลยทีเดียว ซึ่งเจ้า UC นี้จะช่วยให้พนักงานในหน่วยงานสามารถรับส่งข้อความภายในผ่านสื่อได้หลากหลาย ผ่านทางการ chat, IP phone, video conference, การแชร์ข้อมูล, ฯลฯ โดยใช้เจ้า TCP/IP เป็นโพรโตคอลหลักในการสื่อสารทั้งหลาย

บทความได้กล่าวว่า บริษัท Ramsec ได้ใช้คุณสมบัติในการทำงานระยะไกล UC ในการลดค่า downtime ของพนักงานลง ระบบ UC ยังยืดหยุ่นกว่าระบบโทรศัพท์แบบธรรมดา ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบได้สะดวกรวดเร็วกว่าอีกด้วย

3. Open Source พูดได้เลยว่าซอฟต์แวร์หลายๆ ตัวที่บริษัท SME ในไทยใช้อยู่ต่างเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่ทำไมเราถึงไม่หันมาใช้ซอฟต์แวร์ Open Source กันทั้งๆ ที่เจอปัญหาแบบนี้ ผมมองว่ามีสาเหตุอยู่ 2 ประการ 1. เด็กไทยชินกับการใช้ Windows และผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย พอจบออกมาก็เลยต้องใช้กันต่อไปเรื่อยๆ และ 2. คนไทยหลายคนยังติดการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนกันอยู่

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 NECTEC ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้ SME ไทยหันมาใช้ซอฟต์แวร์ OpenOffice แทนที่การใช้ Microsoft Office รวมทั้งซอฟต์แวร์ฟรีต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.nectec.or.th/pub/review-software/index.html

4. Virtualization
พูดง่ายๆ นะครับ การทำ Virtualization ก็คือการจำลองอุปกรณ์ หรือซอฟต์แวร์เสมือนขึ้นมานั่นเอง ซึ่งการทำ Virtualization นั้นมีหลายประเภท และ SME แต่ละแบบก็สามารถใช้ประโยชน์จาก Virtualization เหล่านี้ได้แตกต่างกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้บทความนี้กลายร่างเป็นงานเขียนวิชาการเพราะการจำแนกประเภทพร้อมระบุรายละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมด ผมจะยกตัวอย่างของ SME ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้เลย

เริ่มด้วย SME แบบหาได้ง่ายๆ ร้านเกมร้านเน็ตนั่นเลย ถ้าทุกร้านจำเป็นต้องซื้อ PC เป็นสิบๆ เครื่อง แต่ละเครื่องมีซอฟต์แวร์ของตัวเองทุกเครื่อง การบริหารจัดการคงลำบากพอดู โดยเฉพาะเวลาที่ต้องมาอัพเกรดซอฟต์แวร์สักตัวหนึ่ง ถ้าเจ้าของร้านต้องมานั่งจัดการซอฟต์แวร์ไปทีละเครื่องๆ ก็คงเสียเวลาน่าดู แต่ในปัจจุบันนี้ PC แต่ละเครื่องในร้านเน็ตที่ใช้เทคโนโลยี Desktop Virtualization กลับสามารถดึงโปรแกรมมาจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในร้านได้ โดยเจ้าเครื่อง PC ภายในร้านทั้งหลายนั้นไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์เยอะแยะมากมาย (แค่เป็นเครื่องเล็กๆ แบบที่เรียกว่า thin client ก็เพียงพอ) ทำให้ราคาถูก และการจัดการซอฟต์แวร์ก็ทำที่เซิร์ฟเวอร์กลางเพียงที่เดียว ทำให้สะดวกมากๆ

หรือจะพูดถึง SME ในระดับที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ก็คงพูดถึงบริการด้าน web hosting ก็แล้วกันครับ ถ้าเราต้องการมี web hosting ทั้งแบบ Window และ Linux เราจะทำอย่างไร ถ้าต้องซื้อ PC สองเครื่องเพื่อเอามาใช้กับสองระบบนี้ก็คงเป็นทางเลือกที่ไม่ดีเลย

แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยี Server Virtualization ที่ทำให้ PC ของเราทำหน้าที่ "เสมือน" เครื่อง 2 เครื่องได้เลย ประมาณว่าเปิดคอมพิวเตอร์แล้วเรียกหน้าต่างโปรแกรมขึ้นมา 2 อัน อันแรกก็เป็นหน้าจอของ Window ส่วนอีกอันก็เป็น Linux และเราก็บริหารจัดการทั้งสองระบบบนเครื่องเดียวกันนี่ได้เลย เรียกได้ว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนทั้งสองตัวกำลังแชร์ทุกอย่างในเครื่อง PC เครื่องนั้นอยู่ ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกไม่น้อย

เอาล่ะครับ ผมคงไม่พูดถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อยู่บนบทความ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ออกจะคุ้นหูคุ้นตาและน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น CRM, ERP, VoIP, video conferenct, ฯลฯ ดังนั้นวันนี้ก็ขอตัวแต่เพียงเท่านี้นะครับ ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เอกสิทธิ์ กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2011-04-09 17:42:29 IP : 223.205.7.166


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2011 All Rights Reserved.